สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ใช้ชื่อย่อว่า สทท.อบ. หรือภาษาอังกฤษ National Broadcasting Services of Thailand Ubon Ratchathani; ชื่อย่อ: เอ็นบีที.อุบลฯ, NBT UBON เป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยวิธีการให้ข่าวสาร ความรู้ข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่โน้มน้าว ชักจูงประชาชน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแก่รัฐบาลและหน่วยราชการต่างๆ ตามแนวทางที่ถูกที่ควรในระบอบประชาธิปไตย โดยมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี(NBT11Northeast) สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 ได้รับการอนุญาตโดย กสทช. ให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะประเภทที่สาม ระดับภูมิภาค เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ออกอากาศในระบบดิจิทัลช่องหมายเลข 11 NBT Northeast (ทีวีอีสาน) ออกอากาศวันละ 19 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. ซึ่งเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี สังกัด สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 กรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตรายการและข่าว เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ เข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและท้องถิ่น รวมทั้งส่งรายการท้องถิ่นผ่านดาวเทียม เพื่อออกอากาศที่สถานีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ มุกดาหาร และนครพนม โดยมี สถานีส่งโทรทัศน์จำนวน 4 สถานี ดังนี้
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี (สทท.อุบลราชธานี) ทำการแพร่ภาพออกอากาศที่ช่องความถี่ที่ 33 ย่านความถี่ UHF กำลังส่ง 20 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด อุบลราชธานี บางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ บางส่วนของจังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ
- สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ (สคท.สร.) ทำการแพร่ภาพออกอากาศที่ช่องความถี่ที่ 11 ย่านความถี่ VHF กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์และ 5 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์ บางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ
- สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดมุกดาหาร (สคท.มห.) ทำการแพร่ภาพออกอากาศที่ช่องความถี่ที่ 36 ย่านความถี่ UHF กำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร บางส่วนของจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม ส่วนของจังหวัดยโสธร และบางส่วนของจังหวัดมหาสารคามบาง
- สถานีเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดร้อยเอ็ด (สคท.รอ.) ทำการแพร่ภาพออกอากาศที่ช่องความถี่ที่ 31 ย่านความถี่ UHF กำลังส่ง 20 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
เริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2511 จัดตั้งสถานีถ่ายทอดโทรทัศน์ระบบขาวดำ ที่ สวท.อุบลราชธานี ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นลูกข่ายของ สทท.ขอนแก่น ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 1 จังหวัดขอนแก่น และปี 2524 เปลี่ยนเป็นระบบสี
- พ.ศ. 2529 มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ใหม่ โดยมี ศปข.2 และ สทท.อุบลราชธานี เกิดขึ้น
- พ.ศ. 2530 ก่อสร้าง สคท.อุบลราชธานี พร้อมห้องส่งชั่วคราวที่ ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และเริ่มแพร่ภาพออกอากาศในฐานะ สทท.ศปข.2 อุบลราชธานี
- พ.ศ. 2533 ก่อสร้างอาคาร ศปข.2 พร้อมห้องส่ง สทท.อุบลราชธานี ที่ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2534 เริ่มเชื่อมโยงสัญญาณจากห้องส่ง ตำบลแจระแม ไปยังสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2547 ย้ายจากสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ไปตั้งอยู่ ถนนอุบลตระการ ตำบลหนองบก กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก และได้ปรับเปลี่ยนระบบการแพร่ภาพจากระบบ VHF ช่อง 4 เป็นระบบ UHF ช่อง 33 กำลังส่ง 20 กิโลวัตต์ ขึ้นตรงกับสำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 ซึ่งถูกยกฐานะมาตั้งแต่ มีนาคม 2540

ตราสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ